ความจำเป็นของการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและ กฏหมายประกันสังคม
กฎหมายแรงงาน (Labour Law) หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรของนายจ้าง และองค์การของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อกันและต่อรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การจ้างงาน การใช้แรงงาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปโดยเหมาะสม
กฏหมายคุ้มครองแรงงาน
กฎหมายแรงงานของประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับและที่สำคัญ ได้แก่
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน
2. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3. พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
4. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
5. พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
6. พระราชบัญญัติจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
ขอบเขตการใช้บังคับ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับแก่นายจ้าง ลูกจ้างในการจ้างงานทุกราย ไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภทใดและไม่ว่าจะมีจำนวนลูกจ้าง เท่าใด ยกเว้นนายจ้างหรือกิจการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 คือ
1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
2. รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
3. นายจ้างประเภทที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งจะไม่ใช้บังคับตามกฎหมายทั้งฉบับหรือบางส่วนก็ได้
บทคุ้มครองลูกจ้าง
2.1 กำหนดเวลาทำงานปกติ ในงานทุกประเภทไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมง/สัปดาห์ (ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541, กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541), กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541))
2.2 การทำงานล่วงเวลา มาตรา (24, 26, 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541, กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541), กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541)) กำหนดห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน หรือทำงานในวันหยุดรวมถึงล่วงเวลาในวันหยุดเว้น แต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป
3. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลา ดังต่อไปนี้
3.1 ลาป่วย (ตามมาตรา 32)
3.2 ลาเพื่อทำหมัน (ตามมาตรา 33)
3.3 ลาเพื่อทำกิจธุระอันจำเป็น (ตามมาตรา 34)
3.4 ลาเพื่อรับราชการทหาร (ตามมาตรา 35)
3.5 ลาเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาขีดความสามารถ (ตามมาตรา 36)
3.6 ลาเพื่อคลอด (ตามมาตรา 41)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน (ตามมาตรา 92-94) เป็นองค์กรไตรภาคีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านสวัสดิการแรงงาน และสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 คน เพื่อปรึกษาหารือกับนายจ้างในการจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง
5. กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ตามมาตรา 100 ถึง 103 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) เป็นองค์กรไตรภาคีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน ให้นายจ้างดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงานด้วย
6. กำหนดอัตราค่าชดเชย สำหรับลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้าง (มาตรา 118, 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคลสองฝ่ายคือ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้บุคคลทั้งสองฝ่ายได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน สามารถทำข้อตกลงในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
1. ขอบเขตการใช้บังคับ
กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้าง ในทุกประเภทกิจการยกเว้นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาด้วย และไม่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
โดยหลักพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีสาระสำคัญ ดังนี้
กำหนดหลักเกณฑ์ในการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ตามมาตรา 10,12,13,15,16,18,20,22,34,35 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518)
2. ให้สิทธิในการจัดตั้งองค์การทางด้านแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้
องค์กรของฝ่ายนายจ้างมี 3 ระดับ คือ
1. สมาคมนายจ้าง (มาตรา 57)
2. สหพันธ์นายจ้าง (มาตรา 112)
3. สภาองค์การนายจ้าง (มาตรา 119)
องค์กรของฝ่ายลูกจ้างมี 3 ระดับ คือ
1. สหภาพแรงงาน (มาตรา 89, 95)
2. สหพันธ์แรงงาน (มาตรา 113)
3. สภาองค์การลูกจ้าง (มาตรา 120)
อำนาจหน้าที่
สมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้าง แรงงาน และสหพันธ์แรงงาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. เรียกร้อง เจรจา ทำความตกลงและรับทราบคำชี้ขาด หรือทำข้อตกลงกับลูกจ้าง นายจ้าง หรือองค์การของอีกฝ่ายหนึ่งได้
2. จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์ ทั้งนี้ภายใต้บังคับของวัตถุประสงค์ขององค์การนั้น
3. จัดให้มีบริการสนเทศเพื่อให้สมาชิกมาติดต่อเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจหรือการจัดงาน
4. จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขขจัดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารและการทำงาน
5. จัดให้มีบริการเกี่ยวกับการจัดสรรเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อสวัสดิการของสมาชิกหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ตามที่ที่ประชุมใหญ่เห็นสมควร
6. เรียกเก็บเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกและเงินค่าบำรุงตามอัตราที่กำหนด ในข้อบังคับขององค์การนั้น
พระราชบัญญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2535
กฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น โดยให้ลูกจ้างหรือผู้สมัครเข้าประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบ เพื่อใช้กองทุนดังกล่าวเป็นหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและผู้สมัครเข้าประกันตน ได้รับการสงเคราะห์เมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร ชราภาพ และว่างงาน รวมทั้งการสงเคราะห์บุตร กฎหมาย ประกันสังคมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
1. ขอบเขต
ปัจจุบันกฎหมายประกันสังคมใช้บังคับแก่กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (ตามมาตรา 103 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ พระราชกฤษฎีกา ให้ใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 บังคับแก่นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป พ.ศ. 2545)
2. กิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับ
มาตรา 4 ได้กำหนดยกเว้นกิจการหรือลูกจ้างบางประเภท ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 คือ
1. ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้น ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
2. ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
3. ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานในต่างประเทศ
4. ครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชน
5. นักเรียน นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษาหรือแพทย์ฝึกหัดซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล
6. ลูกจ้างงานบ้านซึ่งไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย (เป็นไปตามนิยามของ “ลูกจ้าง” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533)
7. กิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฏีกา ตามพระราชกฤษฏีกากำหนดลุกจ้าง่ตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2545
7.1 ลูกจ้างของเนติบัณฑิตยสภา
7.2 ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
7.3 ลูกจ้างของสภากาชาดไทย
7.4 รัฐวิสาหกิจ ตามความหมายของคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
7.5 ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย
7.6 ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้ เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล
7.7 ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายจ้าง
7.8 นายจ้างในกิจการค้าเร่ และแผงลอย
3. ผู้ประกันตน
ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์แล้วแต่ยังคงทำงาน ในสถานประกอบการเดิมอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ประกันตนต่อไปแม้ว่าอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ (ตามมาตรา 33, 39 และมาตรา 40)
4. หลักการคุ้มครอง
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
มีหลักการในการสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ประกันตนในการดำรงชีวิต โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 54 บัญญัติให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน 7 กรณี กล่าวคือ
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. กรณีคลอดบุตร
3. กรณีทุพพลภาพ
4. กรณีตาย
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
6. กรณีชราภาพ
7. กรณีว่างงาน
5. หน้าที่ของนายจ้าง
1. ขึ้นทะเบียน
2. จ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง
3. หน้าที่หักค่าจ้างของลูกจ้างเท่ากับจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบ
4. หน้าที่รับผิดใช้เงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน
5. นำส่งเงินสมทบ
วิธีการนำเงินสมทบ
1. จ่ายเงินสมทบ ณ สำนักงานประกันสังคมที่นายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง
2. โดยสื่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (แผ่นดิสเก็ต หรือโดยระบบอินเตอร์เน็ต)
3. โดยผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด
6. จ่ายเงินเพิ่ม
มาตรา 49 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบ ในส่วนของนายจ้างหรือเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) หรือส่งไม่ครบจำนวน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นายจ้างหักเงินสมทบไว้ นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือที่ยังขาดอยู่
7. แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง
มาตรา 44 กำหนดว่า ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการ ที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานประกันสังคมเปลี่ยนแปลง ให้นายจ้างแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1. กรณีที่รับผู้ประกันตนเข้าทำงาน ใช้สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาแล้ว
2. กรณีที่รับผู้ประกันตนลาออกจากงาน
3. กรณีที่ข้อเท็จจริงของผู้ประกันตนเปลี่ยนแปลง
4. กรณีที่ข้อเท็จจริงของนายจ้างเปลี่ยนแปลง
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
เป็นกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง ด้วยการกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินให้บุคคลดังกล่าว เมื่อลูกจ้างได้รับภยันตรายหรือเจ็บป่วยหรือตายอันมีสาเหตุมาจากการทำงาน ให้แก่นายจ้าง และกำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้น โดยให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนดังกล่าวไว้เพื่อเป็นหลักประกัน ในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง หรือผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างแทนนายจ้างกฎหมายเงินทดแทน ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
เหตุแห่งการจ่ายเงินทดแทนนายจ้างที่จะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทน ก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ประสบเคราะห์กรรมจากการทำงาน ให้แก่นายจ้างซึ่งมีอยู่หลายแบบ ซึ่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างใน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย กรณีเจ็บป่วย และกรณีสูญหาย ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2525
พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521
หลักสำคัญในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว คือ ห้ามคนต่างด้าวทำงานในงานบางประเภทโดยเด็ดขาด ส่วนการทำงานในประเภทซึ่งคนต่างด้าวจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงาน (ตามมาตรา 6 และ 7 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521) เท่านั้น |